One minute
Social Engineering Is Hard to Prevent
เมื่อตอนเย็นขณะเดินเข้าคอนโด ก็โดน รปภ. ร้องทัก
รปภ.: พี่ๆ อันนี้ของพี่หรือเปล่าครับ (พร้อมกับยื่นโมบายล์รูปนก แบบเป่าลม มาให้ผม)
ผม: (มองของในมือแล้วก็ตอบกลับ) อ้าว หล่นมาอีกแล้วเหรอ
รปภ.: น้องตึก … (เป็นตึกเดียวกับที่ผมอยู่) เก็บแล้วเอามาฝากไว้ สายมันขาด
ผม: (รับของมา) ขอบคุณมากครับ 🙂
ระหว่างเดินกลับตึกก็ LINE คุยกับแฟนว่า เออ โมบายล์มันหล่นลงมาอีกรอบแล้วนะ (ก่อนหน้านี้เคยหล่นแล้วรอบนึง แต่หาไม่เจอ เลยไปซื้อมาติดใหม่) พลิกๆ ดูก็รู้สึกว่ามันมอมๆ ไปหน่อย แต่คิดว่าคงโดนเหยียบมา เดี๋ยวล้างน้ำเอาละกัน
ขึ้นลิฟต์มาด้วยความอารมณ์ดี เพราะของเกือบจะหายอีกรอบแต่ได้คืนก่อน ฮ่าๆๆ เดินเข้าห้อง วางโมบายล์ไว้บนตู้รองเท้า ปิดประตู แล้วหันไปดูที่ระเบียง เพื่อดูว่าห่วงที่ห้อยโมบายล์มันยังอยู่ดีไหม
อ้าว เฮ้ย! โมบายล์มันก็ยังห้อยอยู่ที่เดิม แล้วอันที่ถือเข้ามามันคือของใคร!? 😱
พอมานั่งทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็รู้สึกว่า นี่เราเพิ่งโดน social engineering มาเต็มๆ สินะ คือเต็มใจเอาของแปลกปลอมเข้ามาในห้องโดยไม่รู้ตัวแม้แต่น้อย
ถ้าลำดับเหตุการณ์โดยละเอียดอีกครั้ง มันมีปัจจัยดังต่อไปนี้
- เริ่มจากคนที่เราคุ้นเคยหรือเชื่อถือ ในกรณีนี้คือ รปภ. ที่เห็นหน้าและทักทายกันเกือบทุกวัน
- ของที่เค้าเอามาให้ มันหน้าตาเหมือนของที่ผมแขวนไว้ที่ระเบียงเป๊ะ
- ผมเคยมีประสบการณ์โมบายล์หล่นมาแล้วรอบนึง เลยไม่รู้สึกแปลกใจที่มันจะหล่นลงมาอีก
- จากคำพูดของ รปภ. บอกว่ามีคนเจอแถวตึกผม ยิ่งย้ำให้รู้สึกแน่ใจมากขึ้นว่าเป็นของผมแน่ๆ
- เลยทำให้ผมรับของมา แล้วเอามันเข้ามาในห้องโดยไร้ความสงสัยใดๆ
เอาจริงๆ มันก็มีข้อชวนสงสัยอยู่บ้างคือ 1) มันเลอะฝุ่นสีแดงๆ ซึ่งปกติระเบียงห้องผมไม่มีฝุ่นแบบนั้น และ 2) มันพองลมมากกว่าโมบายล์ที่มองอยู่ทุกวัน แต่ผมก็พยายามหาเหตุผลให้ตัวเองว่า มันคงโดนเหยียบมาเลยเลอะ และถ้าเอามาถือเฉยๆ มันอาจจะดูพองมากกว่าเวลาแขวนไว้มั้ง
เป็น confirmation bias แบบเต็มๆ 😅 (ผมว่าอันนี้ Cognitive Biases : จิตวิทยาอคติในการตัดสินใจ ฉบับนักพัฒนาโปรดักส์ สรุปเรื่อง cognitive bias อ่านเข้าใจง่ายดี)
จากเหตุการณ์นี้เลยสงสัยว่าคนที่มีประสบการณ์โดน social engineering น่าจะอารมณ์ประมาณนี้หรือเปล่า ขนาดว่าตัวผมเองค่อนข้าง paranoid หน่อยๆ ยังเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ง่ายๆ คือสิ่งที่เกิดขึ้นดูเหมือนไม่มีอะไรผิดปกติ แต่พอรู้ตัวอีกทีก็พบว่าตัวเองเอาสิ่งที่ รปภ. ยื่นให้ เข้ามาในห้องเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าผมเปรียบเทียบ รปภ. เป็นแฮกเกอร์นะ เพราะแฮกเกอร์ตัวจริงอาจจะเป็นคนที่ยื่นของให้ รปภ. หรืออาจจะเป็นคนที่เอาของมาหย่อนไว้หน้าตึกเพื่อให้คนมาเจอก็ได้ แต่ผลลัพธ์สุดท้ายก็น่าจะเหมือนเดิม คือผมถือของเข้าห้องด้วยตัวเอง 😆 โดยแฮกเกอร์เพียงแค่ต้อง research ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผมนิดหน่อย เช่น อยู่ตึกนี้ มีโมบายล์หน้าตาแบบนี้ และเคยทำโมบายล์หล่นหาย อะไรทำนองนี้
แล้วลองจินตนาการต่อว่าถ้าโมบายล์เป่าลมเป็น usb drive, ไฟล์เอกสารที่มีไวรัส, ransomware หรือเป็น phishing link และห้องผมเป็นคอมพิวเตอร์ในองค์กร มันจะเกิดอะไรขึ้น
rant cybersecurity social engineering
141 Words
2020-12-22 19:15 (Last updated: 2020-12-22 22:18)
30c33a8 @ 2020-12-22